You are using an outdated browser. For a faster, safer browsing experience, upgrade for free today.

มาตรฐานคะแนนการประกวด GFBT

การเข้าขม 275    วันที่เผยแพร่ 14 ต.ค. 2565

มาตรฐานคะแนนประกวดนกฟินซ์ 7 สี 
ชมรมผู้เพาะเลี้ยงนกฟินซ์ 7 สี แห่งประเทศไทย (GFBT)

แรกเริ่มเดิมที มาตรฐานคะแนนของ GFBT จะอ้างอิงมาจาก NFSS
ซึ่งก็ถือว่าเป็นมาตรฐานคะแนนที่เป็นที่ยอมรับในระดับโลก

ในขณะเดียวกัน เมื่อทางชมรมฯ ได้จัดประกวดอย่างจริงๆจังๆแล้วก็พบว่า
มาตรฐานคะแนนดังกล่าว "ไม่เหมาะ" กับการพัฒนานกในประเทศไทย
ซึ่งในสมัยแรกๆนั้น คนนิยมนกฟินซ์ 7 สี และให้ "ค่า" จากสีของตัวนกเป็นหลัก

แต่ทาง GFBT กลับเห็นต่างออกไป
เพราะการให้ค่านกด้วยสี จะทำให้เกิดตลาดแบบปั๊มนก โดยเน้นสีสูง 
ซึ่งเป็นสีที่ถือว่าหายากและแพงกว่า (ในสมัยนั้น)
เช่น ฟ้า, พาสเทล, ซิลเวอร์, ไวท์
(ตอนนั้นยังไม่มี Albino, Lutino และ mutation อื่นในไทย)

ซึ่งพอไปเน้นทำสี สิ่งที่ตามมาคือ
จำนวนนกที่มากขึ้น แต่คุณภาพโครงสร้างที่แย่ลง
อายุขัย และความสมบูรณ์แข็งแรงของนกก็น้อยลงด้วยเช่นกัน

ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการปรับปรุงคะแนนมาตฐานการประกวดของ GFBT

จนถึง ณ ตอนนี้ (ตุลาคม 2565)
มาตรฐานคะแนนที่ใช้อยู่อาจจะยังคล้ายๆ เดิม 
แต่ในรายละเอียดแล้วยังแฝงความมุ่งมั่นในการพัฒนาโครงสร้างและมาตรฐาน
นกฟินซ์ 7 สีในประเทศไทย ให้สวย สมบูรณ์ เหมาะสมในการเลี้ยง
และการประกวด 

และแน่นอน ปลายทางของโครงสร้างและสีสันที่สวยงามนั้น
คือความสมบูรณ์แข็งแรง ตามที่นกควรจะเป็น
และตามที่ผู้เลี้ยงควรจะทำได้ด้วยเช่นกัน

ทีนี้ มาอธิบายในรายละเอียดคะแนนในแต่ละส่วนให้เห็นกันสักหน่อย


ส่วนที่ 1 : รูปร่าง / ขนาด
ในส่วนนี้ จะแบบเป็น 3 หัวข้อย่อย 
ส่วนที่มีการปรับเปลี่ยนคือ "ขา" ลดจากเดิม 10 เหลือ "5 คะแนน"
แล้วนำไปเติมให้ "ปีกและหาง" จากเดิม 10 เป็น "15 คะแนน"

สาเหตุ: 
เนื่องจากในการตัดสินนกที่เข้าประกวดของ GFBT จะมีการคัดนกเพื่อเข้ารอบก่อนในรอบแรก
นกที่มีตำหนิที่ขาอย่างรุนแรง เช่น นิ้วกุด, เล็บหลุด หรือมีอาการของโรค เช่น Scaly leg mite
จะถูกคัดทิ้งก่อนตั้งแต่รอบแรก ดังนั้นขาเป็นส่วนที่คะแนนค่อนข้างใกล้เคียงกัน

การนำคำแนนในส่วนนี้ไปไว้ที่ "ปีก และหาง" จะทำให้กรรมการสามารถใช้คะแนน
ไปกับส่วนที่ต้องให้ความละเอียด และมีความแตกต่างกัน อย่างปีก และหาง ได้มากกว่า

ส่วนที่ 2 : สภาพโดยรวมและความถูกต้องตามสายพันธุ์
ส่วนนี้ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจาก GFBT เห็นว่าคะแนนที่ใช้มีความเหมาะสมอยู่แล้ว
โดยคะแนนในส่วนนี้จะเป็นการมองภาพรวมของตัวนก 
ซึ่งจะเรียกว่าเป็นการถอยออกมาจาก โครงสร้างในส่วนแรก
แล้วมองความเป็น "นกฟินซ์" โดยรวม เพื่อเป็นการตรวจสอบอีกครั้ง
และยังถือเป็นการเน้นคะแนนของ รูปร่าง / โครงสร้าง ในอีกส่วนหนึ่ง

 



ส่วนที่ 3: สีสัน และมาร์คกิ้ง
ส่วนนี้เป็นส่วนที่มีการปรับคะแนน "เพิ่มขึ้น" จากเดิม 15 คะแนน เป็น "25 คะแนน"
อ้าว!! ไหนบอกจะไม่ให้ความสำคัญกับสีแต่ต้องให้ความสำคัญกับรูปร่างมากกว่า ?

แน่นอนว่าปณิธานเรายังเหมือนเดิมคือเรื่องรูปร่าง
แต่ตอนนี้ มาตรฐานนกฟินซ์ ในประเทศ โดยเฉพาะนกที่เข้าประกวด
"แตกต่างอย่างสิ้นเชิง" กับในสมัยแรกๆ

จากการที่เป็นกรรมการตัดสินการประกวดมาตั้งแต่เริ่มตั้งชมรมฯ
ผมสามารถบอกได้อย่างไม่ลังเลเลยว่า นกฟินซ์ 7 สีบ้านเรา "พัฒนาขึ้น" แล้ว

เมื่อถึงจุดที่โครงสร้างเริ่มใกล้เคียง
สิ่งที่จะนำมาตัดสินกันได้ก็จะเป็นเรื่อง สีสัน และมาร์คกิ้ง สภาพขนต่างๆ
และการที่จะสามารถตัดสินให้ดีขึ้นก็ควรจะมี Range ของคะแนนที่มากพอ
ที่จะทำให้ลงในรายละเอียดได้ ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการเพิ่มคะแนนในจุดนี้นั่นเอง.

 


ส่วนที่ 4:  พฤติกรรม และการนำเสนอ
ในส่วนนี้เรียกว่าเป็นส่วน ปราบนกสวยในการประกวดเลยก็ว่าได้ (โดยเฉพาะในเมืองไทย)
เพราะผู้ส่งประกวด น้อยคนนักที่จะนำนกเข้าบล็อคเพื่อซ้อมก่อนการประกวดอย่างจริงๆ จังๆ
หรือบางครั้ง ซ้อมมาแต่วันจริง ดันตื่น หรือไม่โชว์ตัวซะอย่างนั้น

ด้วยความที่การประกวดในประเทศไทยมักเป็นการประกวดแบบ "วันเดียวจบ"
โดยเดินทางวันนั้น แล้วประกวดวันนั้นเลย
ไม่ได้มีการได้พักหรือปรับสภาพใดๆ ก่อนการให้คะแนน

ทำให้นกที่ประกวดในประเทศไทย มีโอกาสตื่นสนาม หรือแม้กระทั่งออกอาการอ่อนเพลีย
ได้มากกว่าการประกวดในต่างประเทศ (ต่างประเทศ บางครั้งจัดประกวดกันมากกว่า 1 วัน) 

ด้วยเหตุนี้ รวมถึงเหตุผลในข้อก่อนหน้า
จึงเป็นเหตุผลที่ทางคณะกรรมการของ GFBT มีความเห็นพ้องต้องกัน
ที่จะปรับลดคะแนนในส่วนนี้ไปเพิ่มให้ "สีสันและมาร์คกิ้ง" 
เพื่อให้ได้นกที่สวย สมบูรณ์

พูดให้เข้าใจแบบชาวบ้านๆ คือ
ยืนสวยไม่สวย จะโชว์หรือไม่โชว์ คะแนนก็จะไม่ต่างกันมากนัก
เพื่อจะไปเน้นโครงสร้าง + สีสันมาร์คกิ้งเป็นหลักนั่นเอง 5555

ปล. พิมพ์ยาวๆ อาจขาดตกบกพร่องไปบ้างขออภัย
ทักท้วง สอบถามกันเข้ามาได้เลยพร้อมปรับปรุง

Mr.ตอย
14/10/2565
 

 

 


Tag : มาตรฐานคะแนนประกวด,คะแนนประกวด,GFBT